Welcome to Udonthani in the world today*..ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เวบ *อุดรธานี ในโลกวันนี้*

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คำชะโนด

คำชะโนด
ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จังหวัดอุดรธานี





คำชะโนดเมืองพญานาค
      มีเรื่องเล่ากันมานานแสนนานว่า แต่ก่อนหนองกระแส หรือหนองแสซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปในเขตประเทศลาวเป็นเมืองที่พญานาคครองอยู่โดย แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ เป็นหัวหน้าครองอยู่  อีกส่วนหนึ่งหัวหน้าผู้ครองก็เป็นพญานาคเหมือนกัน มีชื่อว่า เจ้าพ่อสุวรรณนาค มีบริวารฝ่ายละ 5,000 เท่า ๆ กัน ทั้งสองพญานาคอยู่กันด้วยความผาสุก มีความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีอาหารแบ่งกันกิน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและเป็นเพื่อนตายกันมาตลอด
       แต่มีข้อตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปล่าเนื้อหาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งต้องไม่ออกไปเพราะเกรงว่าหากต่างฝ่ายต่างออกไปหาอาหาร บริวารทั้งสองฝ่ายก็อาจจะเกิดการทะเลาะวิวาทรบรากันขึ้นได้ เมื่อฝ่ายที่ออกไปหาอาหารได้เนื้อสัตว์ใดมาเป็นเหยื่อก็ให้แบ่งอาหารนั้นออก เป็นสองส่วน แบ่งกันคนละครึ่ง ข้อตกลงนี้ได้ปฏิบัติกันมาเนิ่นนานโดยไม่มีข้อขัดแย้ง 
      แต่อยู่มาวันหนึ่งพญาศรีสุทโธ พาบริวารไพร่พลไปล่าเนื้อหาอาหาร และได้ช้างมาเป็นอาหาร จึงแบ่งเนื้อช้างพร้อมด้วยหนังและขนออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน นำไปมอบแก่พญาสุวรรณนาคครึ่งหนึ่งตามสัญญาที่มีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างก็กินเนื้อช้างกันอย่างเอร็ดอร่อย และอิ่มหนำสำราญเพราะเนื้อช้างมีมาก
       ต่อมาวันหนึ่งพญาสุวรรณนาคได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้เม่น จึงได้แบ่งเนื้อ หนัง และขนเม่นออกเป็นสองส่วนเอาไปให้พญาศรีสุทโธซึ่งมีนิดเดียวไม่พอกิน พญาศรีสุทโธไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นว่าเม่นตัวเล็กหรือตัวโตแค่ไหน แต่เมื่อเอาขนเม่นมาเทียบกับขนช้างแล้ว ขนเม่นใหญ่กว่าหลายเท่า เมื่อขนใหญ่กว่าตัวก็จะต้องใหญ่กว่าแน่นอน คิดว่าพญาสุวรรณนาคเล่นไม่ซื่อไม่ปฏิบัติตามสัญญา เวลาตัวเองจับช้างได้ก็แบ่งเนื้อไปให้กินกันอย่างเหลือเฟือ พอพญาสุวรรณนาคได้เม่นมากลับแบ่งมาให้นิดเดียว ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ จึงให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งมาครึ่งหนึ่งเอาไปคืนให้พญา สุวรรณนาค พร้อมกับบอกไปว่า “จะไม่ขอรับส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์”
       ฝ่ายพญาสุวรรณนาคเมื่อได้ทราบดังนั้นก็ร้อนใจ รีบเดินทางไปพบกับพญาศรีสุทโธเพื่อชี้แจงให้ทราบว่า เม่นถึงแม้จะมีขนใหญ่โต แต่ตัวของมันเล็กนิดเดียว จะเอาขนไปเทียบหรือเปรียบกับช้างไม่ได้ สัตว์แต่ละชนิดก็มีลักษณะแตกต่างกันไป ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้กินเป็นอาหารเสียเถิด
       แต่ไม่ว่าพญาสุวรรณนาคจะพูดอย่างไรพญาศรีสุทโธก็ไม่ยอมเชื่อ จึงเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์รุนแรงขึ้นทุกขณะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมฟังเสียงกัน ผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามต่อกัน พญาศรีสุทโธซึ่งเป็นฝ่ายโกรธก่อน จึงสั่งไพร่พลรุกรบทันที พญาสุวรรณนาคก็ไม่ยอมแพ้เรียกระดมบริวาลไพร่พลเข้าต่อสู้เป็นสามารถ เล่ากันว่าพญานาคทั้งสองฝ่ายรบกันอยู่นานถึง 7 ปี ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้าเอาชนะกันยังไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างพยายามจะเอาชนะให้ได้ เพื่อจะได้เป็นใหญ่ครองเมืองพญานาคทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างนาคทั้งสองฝ่ายทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ อยู่ในบริเวณหนองกระแส และบริเวณรอบ ๆ หนองแห่งนั้นเกิดความเดือดร้อนและเสียหายไปเป็นจำนวนมาก พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวไปทั่ว เทวดาน้อยใหญ่ได้รับความเดือดร้อนไปทั้งสามภาพ
        ความเดือดร้อนทั้งหลายทราบไปถึงพระอินทร์ ซึ่งเป็นประมุขของเทวดา จึงเรียกเทวดาเข้าเฝ้าเล่าเรื่องราวให้ฟัง เมื่อทรงทราบโดยละเอียดแล้วจึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมือง หนองกระแส แล้วตรัสเป็นโองการให้นาคทั้งสองฝ่ายหยุดรบกัน ให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายเสมอกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ให้หนองกระแสเกิดสันติสุขโดยด่วน แล้วให้พากันสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้นไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้นและเพื่อป้องกัน การทะเลาะวิวาทของพญานาคทั้งสองฝ่าย ให้เอาภูเขาดงพญาไฟเป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปรุกรานราวี ขอให้ไฟจากภูเขาดงพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้น
       เมื่อพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการดังกล่าวแล้ว พญาศรีสุทโธ จึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาขวางอยู่ แม่น้ำก็จะคดโค้งเป็นไปตามภูเขาเพราะพญาศรีสุทโธเป็นนาคใจร้อน แม่น้ำสายนี้เรียกว่า “แม่น้ำโขง” คำว่า “โขง” มาจากคำว่า “โค้ง”  หมายถึง  ไม่ตรง
     ส่วนพญาสุวรรณนาค เมื่อได้รับเทวราชโองการดังกล่าวจึงพาบริวารไพร่พลอพยพจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ พญาสุวรรณนาคเป็นนาคที่ใจเย็นพิถีพิถันและตรง การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรง แม่น้ำนี้เรียกว่า “แม่น้ำน่าน” เป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสายที่มี
     การสร้างแม่น้ำแข่งกันในครั้งนั้น ปรากฏว่าแม่น้ำโขงของพญาศรีสุทโธสร้างเสร็จก่อน จึงเป็นผู้ชนะและมีปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวในโลกตามราช โองการของพระอินทร์
     เมื่อพญาศรีสุทโธสร้างแม่น้ำโขงเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงแผลงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ยังดาวดึงส์ทูลขอต่อพระอินทร์ว่า ตัวเป็นเชื้อพญานาค จะอยู่บนโลกนานเกินไปก็ไม่ได้ จึงขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์เอาไว้ 3 แห่งจะโปรดให้ครอบครองอยู่ไหนแน่นอน
        พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาตให้มีช่องทางขึ้นลงของพญานาคเอาไว้ 3 แห่งคือ1.ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์2.ที่หนองคันแท3.ที่พรหมประกายโลก (ที่คำ-ชะโนด)   แห่งที่ 1 และ 2 ให้เป็นทางลงสู่บาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนแห่งที่ 3 ที่พรหมประกายโลก เป็นที่ ๆ พรหมเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์ ให้พญาศรีสุทโธไปตั้งบ้านครอบครองเฝ้าอยู่ ให้มีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ลักษณะต้นชะโนดให้เอาต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลอย่างละเท่า ๆ กันผสมกัน ในเวลา 1 เดือน ทางจันทรคติข้างขึ้น 15 วัน ให้พญาศรีสุทโธและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกชื่อว่า “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ” และอีก 15 วัน ข้างแรมให้พญาศรีสุทโธและบริวารกลายร่างเป็นนาค เรียกชื่อว่า “พญานาคราชศรีสุทโธ”

       ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงกึ่งพุทธกาล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ถอยหลังไปพี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะได้พบเห็นชาวเมืองคำชะโนดทั้งผู้หญิง และผู้ชายไปเที่ยวงานบุญประจำปี หรือบุญมหาชาติ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุญพะเวศ” อยู่บ่อยครั้ง แล้วก็จะเห็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูก (ฟืม) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำ

       เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธได้จัดให้มีการแข่งเรือ และประกวดชายงามที่เมืองชะโนด นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ภายหลังได้บวชอยู่ที่วัดศิริสุทโธ (วัดดอนตูม) ติดกับเมืองคำชะโนด และมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2533 นายคำตาเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากเจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ ให้ไปประกวดชายงาม นายคำตาหายตัวไปประมาณ 6 ชั่วโมงจึงกลับมา และเล่าเรื่องเมืองคำชะโนดที่ได้เห็นมาให้ใครต่อใครฟัง

       ปัจจุบันนี้ “คำชะโนด” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอำเภอบ้านดุง เรือตรีอนิวรรตน์ พระโยมเยี่ยม อดีตนายอำเภอบ้านดุง ได้ชักชวนข้าราชการทุกฝ่ายตลอดทั้งตำรวจ อส. พ่อค้าและประชาชนร่วมกันสร้างสะพานทางเข้าเมืองคำชะโนดและปรับปรุงบ่อน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เป็นสถานที่สักการะของชาวบ้านดุง และประชาชนทั่วไป 

      ในวโรกาสทางราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดอุดรธานีได้คัดเลือกและนำน้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์คำชะโนดไปร่วมใน งานพระราชพิธี ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2530
      ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 นายมังกร มาเรียง ปลัดอำเภอบ้านดุง (หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษ) ได้ชักชวนผู้มีจิตรศรัทธาร่วมกันจัดทำบุญทอดผ้าป่าสร้างสะพานคอนกรีตเสริม เหล็ก เพื่อความมั่นคงแข็งแรงเข้าไปยังเมืองคำชะโนด และต่อมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนเป็นสะพานทางเดินที่สวยงาม


     ปัจจุบันมีผู้คนจากต่างถิ่นที่ได้ทราบเรื่องความมหัศจรรย์ของเมืองชะโนดหรือ เมืองพญานาคนี้ ได้เดินทางมาชมกันมากมาย และถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี ใครได้ไปเยี่ยมชมสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้โปรดอย่างลืมคำว่า “ไม่เชื่อหย่าลบหลู่
ข้อมูลอ้างอิงจากเวบไซค์ http://kamchanod.thport.com/main.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น