Welcome to Udonthani in the world today*..ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เวบ *อุดรธานี ในโลกวันนี้*

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

พระธาตุบ้านเดียม




แต่ก่อนบ้านเดียมขึ้นเขตปกครองกับอำเภอหนองหาน มณฑลอุดร เมื่อมีการแบ่งการปกครองใหม่ จึงขึ้นกับตำบลอุ่นจาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แล้วต่อมาตำบลอุ่มจานได้แยกออกเป็น ตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาดและตำบลเชียงแหว บ้านเดียมจึงได้ขึ้นเขตปกครองกับตำบลเชียงแหว เมื่อปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบัน

เจดีย์หรือองค์พระธาตุสร้างมาแต่ยุคใดไม่มีใครทราบ มีแต่อักษรจารึกไว้ที่แท่นพระพุทธรูปองค์ที่ใช้เสี่ยง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่กับพระเจดีย์เป็นภาษามคธ จุลศักราช 7 ปีเบิกใจ้ เดือน12 วัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งหนองหานทางด้านทิศเหนือ

เดิมวัดนี้เป็นที่รกร้างและได้ถูกทอดทิ้งมานานปานใดก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด จนเกิดมีเถาวัลย์ปกคลุมไปทั่วบริเวณวัด มีสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น จระเข้ งูพิษที่ร้ายที่สุด จนไม่มีใครกล้าเข้าไปพิสูจน์ว่าในนั้นมีอะไรอยู่บ้าง 

นานเข้าผู้คนหนาแน่นขึ้นได้จึงไปพิสูจน์หาข้อเท็จจริงในบริเวณวัดดังกล่าว จึงได้พบว่าในที่นั้นมีโบสถ์เก่าและพระสถูปรูปกระทะคว่ำ ตั้งอยู่บนตัวโบสถ์และมีพระพุทธรูปใหญ่ประดิษฐานอยู่ในช่องประตูของพระสถูปช่องละ 1 องค์

ต่อมาข่าวนี้ได้ลือลั่นไปทั่วทุกตำบลและอำเภอที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ต่างพากันช่วยรื้อร้างถางโพงเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์จนกลายเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ จนถึงปี พ.ศ. 2464 เห็นว่าองค์พระสถูปเดิมนั้นมีต้นโพธิ์ใหญ่และรากของต้นโพธิ์ได้ทิ่มแทงได้รับความเสียหายผู้คน
ที่เคารพศรัทธาในเขตใกล้เคียงจึงได้พร้อมใจกันทำการรื้อกระสถูปองค์เดิมเสีย แล้วมาสร้างใหม่ให้เป็นรูปแบบพระเจดีย์แทน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 เกิดพายุฝนฟ้าตกกระหน่ำอย่างหนักอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนพอรุ่งเช้าชาวบ้านจึง ได้เห็นองค์เจดีย์หักพังลงตรงที่พระประธานประดิษฐานอยู่ แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระประธาน จึงหาได้เป็นอันตรายแต่ประการใดไม่ 

ประชาชนทั้งหลายเมื่อทราบข่าวการหักขององค์เจดีย์ ต่างเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่งจึงได้พากันหลั่งไหลมาช่วยกันทำการซ่อมแซมบูรณะให้ดีดังเดิม พระเจดีย์หรือพระมหาธาตุเจดีย์ ประชาชนทั้งหลายเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล สามารถดลบันดาลได้สารพัดอย่าง

พระมหาธาตุเจดีย์นี้มีฐานทั้งสี่ทิศกว้างด้านละ 2 วา 2 ศอก ด้านทิศตะวันตกและตะวันออกประดิษฐานองค์พระประธานช่องละองค์ พระพุทธรูปหรือองค์ประธานสร้างด้วยทองเหลืององค์ทางด้านทิศตะวันออกสร้างแบบปรางค์สมาธิ ส่วนองค์ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกสร้างแบบปรางค์ตรัสรู้ พระพุทธรูปทั้งสององค์มีหน้าตักกว้าง 3 ฟุต 6 นิ้ว ส่วนสูงจัดจากแท่นถึงปลายเกษาสูง 5 ฟุต 8 นิ้ว พระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันตก ฐานพระอุโบสถสร้างด้วยหินศิลาแลงซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ กว้าง 5 วา ยาว 10 วา สูง 1 วา

เมื่อถึงวันขึ้น 13 - 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ชาวบ้านเดียมจะจัดงานเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า " บุญเดือน 5 " มีประชาชนจากตำบลและอำเภอใกล้เคียงหลั่งไหลมาร่วมทำบุญอย่างเนืองแน่น ตลอดจนชาวบ้านเดียมที่ไปทำมาหากินยังต่างถิ่นหรือแม้แต่ที่อยู่ต่างประเทศ ก็จะหาโอกาศกลับมาร่วมฉลองและนมัสการพระมหาธาตุ(หลวงปู่มหาธาตุ) 

ซึ่งในงานก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญ เช่น ปิดทองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงทายพระ เสี่ยงทางเซียมซี ตักบาตร 108 ตักบาตรพระประจำวันเกิด และมีมหรสพสมโภชน์ตลอด 3 วัน 2 คืน บางปีบุญเดือน 5 ก็ตรงกับวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมีการสรงน้ำพระประธาน ถือว่างานบุญเดือน 5 เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านเดียมมาช้านาน

เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของวัดแห่งนี้ เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาประมาณเดือน 11 น้ำนองเดือน 12 น้ำนิ่ง ตอนกลางคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ จะมองเห็นวัตถุเรืองแสงคล้ายกับดวงดาวได้เคลื่อนไหวไปมาออกจากองค์มหาธาตุ ล่องลอยไปในที่ต่าง ๆ แล้วหายวับไปในหนองหาน 

รุ่งเช้ามามีทายกทายิกาที่ไปใส่บาตรถวายภัตราหารเช้า (จังหัน) เสร็จแล้วก็ไปจุดธูปเทียนบูชาพระประธาน ต่างก็ตื่นตระหนกตกใจเมื่อมองเห็นจอกแหนพาดอยู่บนบ่าพระประธานที่อยู่ในเจดีย์

บ่อยครั้ง ที่เห็นเป็นดวงไฟลอยไปมาก็คือ พระพุทธรูปได้เสร็จ (ดาวเสด็จ) ไปสรงน้ำตอนกลางคืนแล้วแสดงอภินิหารย์ให้ชาวบ้านได้ดูได้เห็นประประจำ และอีกอย่างคือในบริเวณวัดมีแย้มาก ชาวบ้านถือว่าเป็นแย้ของหลวงปู่ใครจะทำร้ายไม่ได้

หากใครบังอาจทำร้ายก็จะมีอันเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ปัจจุบันชาวบ้านใกล้ไกลเมื่อจะไปทำงานยังต่างประเทศต่างก็มาบนบานศาลกล่าวต่อหล่วงปู่ให้ช่วยคุ้มครองอยู่เป็นประจำ

ปัจจุบันแถวระแวกบ้านใกล้เรือนเคียงจะเคารพนับถือและบูชามาก ใครเดือดร้อนเรื่องใดต่างก็มาอธิษฐานของให้หลวงปู่ช่วยเป็นที่พึ่งทางใจต่างก็ได้ผลตาม ๆ กัน ของที่หายไปก็มีคนนำกลับมาคืนให้ แต่อย่าลืม เมื่อได้ของแล้วต้องนำเครื่องเซ่นไหว้มากราบท่าน (ปลงบ๋า) 


การเดินทาง

พระธาตุบ้านเดียม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของฝั่งหนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี หากเดินทางตามถนนสายมิตรภาพจากจังหวัดขอนแก่น พอถึงทางแยกบ้านนาดีก่อนถึงจังหวัดอุดรธานีก็เลี้ยวขวาตามถนนสาย ร.พ.ช.บ้านนาดี-หนองเม็ก

เรียบเรียงโดย อ.สมจิตร
แหล่งข้อมูล/หลักฐานอ้างอิง : ศึกษาจากหนังสือ แผ่นพับ ที่มีท่านผู้รู้ได้จัดทำไว้ ซึ่งมีอยู่น้อยมากสอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ที่พอจำได้และเล่าสืบทอดกันมา พร้อมเรื่องราวปาฎิหาริย์ และมีประวัติเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้าน " ผาแดง - นางไอ่ "

ขอบคุณข้อมูลจากเวบhttp://www.udonthani.com/bantium.shtml


3 ความคิดเห็น:

  1. จะไปอยู่ใกล แค่ไหน ก็ยังรักบ้านเกิดเสมอ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. อยากทราบว่าสถูปทรงเจดีเก่ามัย.เหลือแต่ฐานใช่มัย.อยู่ทางอุดรมัย.ในฝันเขาบอกให้ผมไปบวชและอยู่ที่นั่น..ขอรูปภาพด้วยครับ

    ตอบลบ